โรคไบโพลาร์ (Bipolar)
โรคไบโพลาร์ (Bipolar) เป็นโรคที่จัดอยู่ในกลุ่มโรคทางด้านเรื่องอารมณ์ กลุ่มเดียวกับโรคซึมเศร้า โรคซึมเศร้านั้นคือ โรคอารมณ์ที่ชัดเจน ที่มีอารมณ์เบื่อเศร้า แต่โรคไบโพลาร์ จะมีลักษณะที่มีอารมณ์ช่วงหนึ่งจะมีลักษณะครื้นเครง รื่นเริง สนุกสนานสลับกับอารมณ์ซึมเศร้าอีกช่วงหนึ่ง
ในประเทศไทย มีผู้ที่มีอาการป่วยทางจิต ทางด้านอารมณ์ จำนวนหลายแสนคน บางครั้งอาจเรียกว่า “โรคเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย” หรืออารมณ์แปรปรวน ส่วนมากพบได้ในบุคคลที่มีฐานะดี และคนที่คิดมาก ทั้งชายและหญิงมีสิทธิ์เป็นได้เท่าๆกัน
สาเหตุของโรค
1. โรคนี้ได้วิจัยชัดเจนแล้วว่า เป็นเรื่องของความผิดปกติของสารสื่อนำประสาทในสมอง ทำให้เกิดอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
2. สารในกลุ่ม catecholamines เกี่ยวข้องกับอาการของโรค ปริมาณของ epinephrine และ norepinephrine ที่ต่ำจะทำให้เกิดอาการ depression ในขณะที่ระดับ epinephrine และ norepinephrine ที่สูงขึ้นทำให้เกิดอาการ mania
3. สารโคเคน cocaine ทำให้โรคกำเริบ ยารักษาโรคพาร์กินสันในกลุ่ม L-dopa และยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดกลับของสารซีโรโทนิน จะกระตุ้นให้โรคไบโพลาร์กำเริบ
4. โรคไบโพลาร์เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมด้วย เช่น พ่อหรือแม่เป็นโรคนี้ โอกาสที่ลูกจะเป็นมีร้อยละ 26 หมายความว่าหนึ่งในสี่คนมีโอกาสเป็นโรคนี้แน่ๆ ถ้าพ่อหรือแม่เป็นทั้งคู่ อาจจะเป็นไบโพลาร์หรือซึมเศร้า ลูกมีโอกาสเป็นโรคนี้สูงถึงร้อยละ 56
5. ในปี 2004 มีรายงานการศึกษาพบว่า oligodendrocyte-myelin–related genes เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคไบโพลาร์ โดยที่โอกิโลเดนโดรซัยท์ทำหน้าที่ผลิตสารมัยอีลินห่อหุ้มเส้นใยประสาท ดังนั้นความผิดปกติของสารมัยอิลินจึงทำให้เซลล์ประสาทไม่สามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างปกติ
6. การทดลองในหนู พบว่ายีน Bcl-2 เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคไบโพลาร์ โดยทำให้โปรตีนซ่อมแซมเซลล์ในส่วนสมองส่วน frontal cortex และ hippocampus ลดน้อยลง
อาการของโรค
อารมณ์ดีในลักษณะที่ผิดปกติ เรียกว่า mania หมายถึงอารมณ์ดีมากเกินกว่าปกติที่ควรจะเป็น และมักจะไม่มีเหตุผลหรือไม่สมเหตุสมผล อาจจะมีปัญหากระทบกระเทือนต่อหน้าที่การงาน อารมณ์ดีจนกระทั่งตัดสินใจในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ช่วงที่มีอารมณ์ดีจะช่างพูดช่างคุย คุยได้ไม่หยุด และไม่ชอบให้ใครมาขัดจะเกิดอารมณ์หงุดหงิด แล้วถึงขั้นใช้อารมณ์ก้าวร้าวได้
ผู้ป่วยบางคนกลางคืนไม่ยอมหลับ ไม่ยอมนอน อยากเที่ยวกลางคืน ใช้จ่ายเงินมาก มีอารมณ์ทางเพศมากขึ้น สำส่อนทางเพศ อารมณ์ดีที่มากเกินปกติและไม่สมเหตุสมผล ที่เป็นมากขึ้นต่อเนื่องยาวกว่าหนึ่งอาทิตย์ แล้วก่อให้เกิดปัญหาคือ จุดที่ควรสงสัยว่าคนนั้นอาจเป็นโรคไบโพลาร์ ความหมายของไบโพลาร์ไม่จำเป็นต้องสลับกับช่วงซึมเศร้า บางคนเป็นโรคนี้ อยู่ช่วงหนึ่งอาจจะประมาณ 4-6 เดือนอาจจะสามารถกลับคืนเป็นปกติได้เองโดยไม่ต้องรักษา ทำให้คนรอบข้างจะไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหา ถ้าไม่สังเกตอย่างใกล้ชิด เมื่อปกติแล้วเขาจะดำเนินชีวิตได้ปกติ พอถึงช่วงหนึ่งจะรื่นเริงอีก หรืออาจจะสลับไปขั้วตรงข้าม เป็นแบบซึมเศร้า อาการก็จะเริ่มตั้งแต่ แยกตัว เบื่อหน่าย ไม่อยากทำอะไร กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เบื่อๆเข้าก็รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า ที่สำคัญที่สุดคือการฆ่าตัวตาย
โรคนี้ช่วงซึมเศร้าจะเหมือนกับโรคซึมเศร้า อัตราการฆ่าตัวตายคือ 15-20% เพราะฉะนั้นหนึ่งในห้ามีโอกาสที่จะเกิดปัญหาเบื่อเศร้าและฆ่าตัวตาย ช่วงที่รื่นเริงมากๆ ก็จะมีประเด็นการฆ่าตัวตายได้ด้วยเช่นกัน ไม่ใช่เฉพาะแค่ตอนซึมเศร้า คนไข้ที่จะป่วยเป็นโรคนี้ จากการวิจัยพบว่า จะเริ่มเกิดอาการของโรคนี้ในช่วงวัยรุ่น แต่อาการจะไม่ปรากฏชัด ซึ่งบางทีวัยรุ่นเป็นโรคนี้อยู่แต่ไม่ปรากฏอาการที่รุนแรง คนรอบข้างจะไม่สามารถสังเกตได้ อาจเริ่มมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง เช่น อาจจะเที่ยวกลางคืน อยากไปเตร็ดเตร่ ไม่มีสมาธิในการเรียนทำให้ผลการเรียนตกลง อาจจะมีปัญหาเรื่องของพฤติกรรมที่สร้างปัญหา เช่น ทะเลาะกับเพื่อนฝูง ถ้าพ่อแม่ไม่ได้ใกล้ชิด เห็นแค่ปรับเปลี่ยนไปนิดหน่อย เหมือนกับไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลย
การวินิจฉัยโรค
จะสังเกตเห็นได้ชัดในกลุ่มคนที่ชอบเที่ยวกลางคืนเป็นชีวิตจิตใจ จะอดหลับอดนอน ใช้เงินไม่มีเหตุผล คิดเร็วเหมือนมีความคิดสร้างสรรค์ดี แต่มักทำสิ่งที่คิดไม่สำเร็จเพราะคิดไม่รอบคอบ พฤติกรรมจะวุ่นวาย ก้าวร้าวเมื่ออาการเป็นมาก
โรคนี้มีระยะเวลาในการเจ็บป่วย แบ่งเป็นช่วงๆ ช่วงละ 4-5 เดือน คนที่เป็นน้อยๆ และควบคุมอาการของโรคได้จะสามารถประสบความสำเร็จในชีวิต เพราะจะเป็นคนที่ขยันทำงาน มีความคิดสร้างสรรค์ดี เชื่อมสัมพันธ์คนอื่นได้ง่าย เช่น ผู้ป่วยตอนมีอาการไม่มากสามารถก่อร่างสร้างตัวจนเป็นเจ้าของกิจการตั้งแต่อายุ 30 ต้นๆแต่พออายุใกล้ 40 ต้องมาเผชิญกับความเครียดเรื่องการเงินและเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความเจ็บป่วยรุนแรงขึ้น เริ่มมีอาการผิดปกติ นอนไม่หลับ คิดมาก หงุดหงิด มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง ไม่ฟังใครจึงมักทะเลาะกับคนอื่น ครั้นต่อมาเมื่อรุนแรงขึ้น ถึงขั้น ด่าว่า ตบตีกันในครอบครัว เมื่อเป็นมากๆก็ไปทำร้ายคนอื่นได้
แนวทางในการรักษาโรค
1. การรักษาในปัจจุบันนี้ ใช้ยาไปช่วยในการปรับสารสื่อนำประสาทตรงให้กลับมาทำงานได้อย่างปกติ เรียกชื่อกลุ่มยานี้ว่า กลุ่มปรับอารมณ์ให้คงที่ mood stabilizer ซึ่งจะมียาเฉพาะไม่กี่ตัว ที่จะใช้ในการรักษาที่จะช่วยอาการนี้ได้ ช่วงระยะการรักษา ช่วงแรกจะเป็นการคุมอาการให้กลับมาเป็นปกติที่สุดภายใน 1 สัปดาห์ก่อน หรืออย่างช้า 1 เดือน หลังจากนั้น จะเป็นการรักษาต่อเนื่องอาจต้องใช้ยาคุมอาการ ระยะเวลาการรักษาขึ้นอยู่กับอาการคนไข้เป็นสำคัญ ในคนไข้บางราย 1 ปีอาจมาพบหมอแค่ 2-4 ครั้งเท่านั้น ไม่ต้องอยู่โรงพยาบาลตลอด
2. ยาหลักที่นิยมใช้รักษาและได้ผลดี คือ lithium ควบคุมอาการ mania ได้ดีมาก แต่ผู้ป่วยอาจต้องใช้ยาเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากโรคนี้อาจเป็นๆ หายๆ ได้ ตัวยายังสามารถป้องกันได้ทั้งอาการ mania และอาการซึมเศร้า ยาอื่นๆ ที่ได้ผลดี ได้แก่ valproate, carbamazepine, lamotrigine, gabapentin และ topiramate
3. สำหรับอาการซึมเศร้าตอบสนองดีต่อยา clozapine, olanzapine, risperidone, quetiapine และziprasidone
4. สิ่งสำคัญที่สุด คนรอบข้างต้องเข้าใจในผู้ป่วยที่เป็นภาวะเช่นนี้ด้วย ตัวผู้ป่วยเองก็ต้องดำเนินชีวิตในทางสายกลาง ควบคุมเวลานอนหลับให้เพียงพอ อย่างน้อยก็วันละ 6-8 ชั่วโมง พยายามหาวิธีแก้ปัญหาและลดความเครียด และอย่าใช้ยากระตุ้นหรือสารมึนเมา เช่น เหล้า หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูง
5. ถ้ามีผู้ป่วยในครอบครัว คนรอบตัวต้องเข้าใจและช่วยกันป้องกันผู้ป่วยในช่วงก่อนโรคกำเริบรุนแรงเพราะว่ามีโอกาส กลับไปเป็นซ้ำอีก ช่วงอายุที่มีโอกาสเป็นโรคอารมณ์แปรปรวนมากที่สุด คือ 15-25 ปี กลุ่มนี้จะเริ่มต้นด้วยอาการขยันผิดปกติ หรือที่เรียกว่า “ไฮเปอร์แอคทีฟ”ต่อมาบางช่วงของการเจ็บป่วยก็จะเปลี่ยนเป็นซึมเศร้า เป็นมากๆอาจถึงขั้นฆ่าตัวตาย
โรคนี้รักษาได้ ญาติควรนำผู้ป่วยส่งแพทย์โดยด่วน หากพบว่าอาการเริ่มเพิ่มชั้นความรุนแรง ปัจจุบันมียาที่ใช้ปรับอารมณ์ให้คงที่ปกติ สามารถให้ผู้ป่วยดำเนินได้อย่างปกติเหมือนคนทั่วไป และลดซึ่งความสูญเสียทางด้านหน้าที่การงาน และเงินทอง เวลาผู้ป่วยมีอาการ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความรุนแรงเป็นปัญหาสังคมได้
ที่มาข้อมูลจาก
http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%84%E0%B8%9A%E0%B9%82%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น