มาลาเรีย (Malaria)
มาลาเรีย (Malaria) ไข้ป่า ไข้จับสั่น ไข้ป้าง ไข้ร้อนเย็นและไข้ดอกสัก คำว่า malaria มาจากภาษาอิตาเลี่ยน mal+aria แปลว่า "อากาศไม่ดี" เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อโปรโตซัวพลาสโมเดียม หรือ พลาสโมเดีย เป็นโรคที่ทำให้คนที่เป็นมีอาการจับไข้ หนาวสั่น
สารบัญ
1 ประวัติ
2 สาเหตุของโรค
3 การติดต่อ
4 แหล่งระบาด
5 พยาธิกำเนิด
6 อาการ
7 การรักษา
8 การป้องกัน
ประวัติ
มีการบันทึกว่ามีการติดเชื้อโรคมาลาเรียในมนุษย์มามากกว่า 50,000 ปีแล้ว และอาจเป็นเชื้อก่อโรคในมนุษย์มาพร้อมกับการมีมนุษย์บนโลกก็เป็นได้[1] มีการพบว่าเชื้อที่มีความใกล้เคียงกับมาลาเรียสามารถเป็นปรสิตในลิงชิมแปนซีซึ่งมีความใกล้เคียงกับมนุษย์มาก[2] ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ มีการบันทึกการเกิดโรคมาลาเรียอยู่ตลอดมา ตั้งแต่ในประเทศจีนเมื่อ 2700 ปีก่อนคริสตกาล[3] คำว่ามาลาเรียมีที่มาจากภาษาอิตาลีโบราณคำว่า mala aria ซึ่งแปลว่า อากาศที่ไม่ดี
การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ทำให้เกิดความก้าวหน้าที่สำคัญในความรู้เรื่องโรคมาลาเรียในปี พ.ศ. 2423 เมื่อแพทย์ทหารชาวฝรั่งเศสที่ทำงานในประเทศอัลจีเรียชื่อ Charles Louis Alphonse Laveran ได้สังเกตเห็นปรสิตในเม็ดเลือดแดงของคนที่ป่วยด้วยโรคมาลาเรีย จึงเสนอแนวคิดว่าสาเหตุของโรคมาลาเรียคือเชื้อโปรโตซัว ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการระบุว่าเชื้อโปรโตซัวเป็นสาเหตุของโรค[4] ซึ่งจากการค้นพบครั้งนี้และครั้งอื่นๆ ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาและการแพทย์ในปี พ.ศ. 2450 เชื้อโปรโตซัวนี้ได้รับการตั้งชื่อว่า Plasmodium (พลาสโมเดียม) โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาลีชื่อ Ettore Marchiafava และ Angelo Celli[5] ในปีต่อมา แพทย์ชาวคิวบาชื่อ Carlos Finley ซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาผู้ป่วยโรคไข้เหลืองในฮาวานาได้เสนอว่ามาลาเรียติดต่อผ่านทางยุงอย่างไรก็ดี แพทย์ชาวอังกฤษชื่อ Sir Ronald Ross ที่ทำงานอยู่ในประเทศอินเดียได้พิสูจน์ในปี พ.ศ. 2441 ว่าเชื้อมาลาเรียติดต่อผ่านทางยุงได้จริง เขาสามารถพิสูจน์ได้ว่ายุงชนิดหนึ่งได้นำเชื้อโรคนี้ไปติดต่อยังนก และสามารถสกัดปรสิตมาลาเรียจากต่อมน้ำลายของยุงที่ไปกัดนกที่ติดเชื้อตัวนั้นได้[6] จากการวิจัยนี้ทำให้ Ross ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ในปี พ.ศ. 2445 หลังจากลาออกจากการปฏิบัติงานทางการแพทย์ในประเทศอินเดีย Ross ได้เข้าทำงานใน Liverpool School of Tropical Medicine ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ และมีส่วนร่วมในการควบคุมโรคมาลาเรียในประเทศอียิปต์ ปานามา กรีซ และ มอริเชียส[7] การค้นพบของ Finlay และ Ross ได้รับการยืนยันในเวลาต่อมาโดย medical board นำโดย Walter Reed ในปี พ.ศ. 2443 และได้รับการนำไปใช้ William C. Gorgas ในหน่วยงานสาธารณสุยระหว่างการก่อสร้างคลองปานามา การปฏิบัติงานทางสาธารณสุขนี้ได้ช่วยชีวิตคนงานนับพันและได้เริ่มสร้างวิธีการในการต่อสู้กับโรคมาลาเรียในปัจจุบัน
สาเหตุของโรค
มาลาเรียเกิดจากเชื้อปรสิต สกุล Plasmodium 4 ชนิดได้แก่
1. พลาสโมเดียม ฟาลซิเพรัม (Plasmodium falciparum) เป็นชนิดร้ายแรงที่สุด[8]
2. Plasmodium vivax
3. Plasmodium malariae
4. Plasmodium ovale
โดย P. falciparum และ P. malariae จะทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดงทุกระยะ แต่ P. vivax และ P. ovale นั้น จะทำลายเฉพาะเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ยังเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์เท่านั้น โดยเชื้อที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ Plasmodium falciparum กับ Plasmodium vivax
การติดต่อ
การติดต่อสู่คนโดยการถูกยุงก้นปล่องตัวเมียที่มีเชื้อมาลาเรียกัด ยุงก้นปล่อง ที่เป็นพาหะของมาลาเรียที่สำคัญ ในเมืองไทย มีสองชนิด คือ
1. Anopheles Dirus พบในป่าทึบชอบออกไข่ตามแอ่งน้ำนิ่งขังตามธรรมชาติ ลักษณะนิสัยชอบกินเลือดคนมาก ไม่ชอบกินเลือดสัตว์อื่นออกหากินตอนกลางคืนถึงเช้ามืด แต่ถ้าป่าทึบมาก ๆ ก็หากินช่วงกลางวันด้วย ยุงชนิดนี้ เป็นชนิดที่มีความสามารถในการแพร่เชื้อมาลาเรียมากกว่ายุงพาหะชนิดอื่นในประเทศไทย
2. Anopheles Minimus พบตามชายป่า ชอบวางไข่ในลำธาร น้ำใส ไหลเอื่อย ๆ
แหล่งระบาด
พ.ศ. 2550 นี้ มีการประเมินว่าจะมีผู้ติดเชื้อมาลาเรียกว่า 500 ล้านคน โดยจะมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้อย่างน้อยหนึ่งล้านคน[8]
แหล่งระบาดของมาลาเรียในประเทศไทยอยู่ตามจังหวัดชายแดน โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นภูเขาสูง ป่าทึบ และมีแหล่งน้ำ ลำธาร อันเป็นแหล่งแพร่พันธุ์ของยุงก้นปล่อง จังหวัดที่พบผู้ป่วยมาลาเรียส่วนใหญ่ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ตาก ตราด ระนอง กาญจนบุรี จันทบุรี สระแก้ว ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี และชุมพร
พยาธิกำเนิด
โรคมาลาเรียในมนุษย์มีสองระยะ ระยะหนึ่งอยู่นอกเม็ดเลือดแดง (exoerythrocytic phase) คืออยู่ในเซลล์ตับ อีกระยะหนึ่งอยู่ในเม็ดเลือดแดง (erythrocytic phase) เมื่อยุงที่ติดเชื้อมาลาเรียไปดูดเลือดจากมนุษย์ สปอโรซอยต์ (sporozoite) ในน้ำลายของยุงตัวนั้นจะเข้าไปสู่กระแสเลือดของมนุษย์ เมื่อสปอโรซอยต์เข้าสู่กระแสเลือดแล้วก็จะไปจนถึงตับ และจะเข้าสู่เซลล์ตับภายใน 30 นาทีหลังจากยุงกัด หลังจากนั้นเชื้อจะสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศอยู่ประมาณ 6-15 วัน โดยไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติใดๆ เชื้อในตับจะเพิ่มจำนวนขึ้นได้นับพันหรือหมื่นตัวต่อหนึ่งเซลล์ตับ แต่ละตัวเรียกว่า เมอโรซอยต์ (merozoite) กระบวนการนี้เรียกว่า merogony หรือ schizogony เมื่อเจริญมากถึงระดับหนึ่ง เซลล์ตับจะแตกออก และเมอโรซอยต์จำนวนมากจะเข้าสู่กระแสเลือด และเข้าสู่เม็ดเลือดแดง เป็นการเริ่ม erythrocytic phase เชื้อนี้ออกจากตับโดยเอาเยื่อหุ้มเซลล์ของเซลล์ตับคลุมตัวเองไว้ ทำให้รอดจากภูมิคุ้มกันมาได้
เมื่อเข้าสู่ระยะในเม็ดเลือดแดงแล้ว เชื้อจะเพิ่มจำนวนแบบไม่อาศัยเพศอีกครั้ง เมื่อได้จำนวนมากถึงระดับหนึ่งก็จะทำให้เม็ดเลือดแดงแตกออก และเชื้อจำนวนมากก็จะถูกแพร่เข้าสู่กระแสเลือดไปสู่เม็ดเลือดแดงใหม่ต่อไป ในแต่ละครั้งที่เม็ดเลือดแดงแตกออกและมีเชื้อจำนวนมากเข้าสู่กระแสเลือดนี้เองที่ผู้ป่วยจะมีไข้เป็นระยะๆ แล้วแต่ชนิดของเชื้อ การมีไข้จับเป็นระยะๆ นี้เอง ที่เรียกว่า "จับไข้"
เชื้อพลาสโมเดียมบางชนิด เช่น P. vivax และ P. ovale เมื่อเข้าสู่เซลล์ตับแล้วอาจจะไม่พัฒนาเป็นเมอโรซอยต์ในทันที แต่จะเข้าสู่ระยะพักที่เรียกว่า hypnozoite แทน เชื้ออาจอยู่ในระยะนี้ได้นานถึง 6-12 เดือน ไปจนถึง 3 ปี หลังจากนี้แล้ว เชื้อจึงจะเจริญต่อไป ทำให้ได้เมอโรซอยต์จำนวนมากไปสู่กระแสเลือดตามปกติ การมีระยะ hypnozoite นี้เอง ที่ทำให้โรคมาลาเรียที่เกิดจากเชื้อดังกล่าวมีระยะฟักตัวนาน และอาจมีการเป็นโรคซ้ำได้อีกหลังจากเป็นแล้ว[9]
ปรสิตนี้แทบไม่ถูกกำจัดโดยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เพราะวงจรชีวิตของเชื้อนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในเซลล์ คือเซลล์ตับและเซลล์เม็ดเลือดแดง ทำให้ไม่ถูกตรวจจับโดยภูมิคุ้มกันของร่างกาย อย่างไรก็ดี เซลล์เม็ดเลือดที่ติดเชื้อจะถูกกรองและทำลายทิ้งที่ม้าม เป็นการทำลายเชื้อได้ทางหนึ่ง เชื้อ P. falciparum มีวิธีหลบหลีกจากกระบวนการของร่างกายอันนี้โดยเชื้อจะมีสร้างโปรตีนยึดเกาะบนผิวเซลล์เม็ดเลือดแดงทำให้เม็ดเลือดแดงไปติดอยู่กับหลอดเลือดขนาดเล็ก ทำให้ไม่ถูกกำจัดที่ม้าม และเชื้อสามารถเจริญเติบโตต่อไปได้[10] การที่เม็ดเลือดแดงไปติดอยู่กับหลอดเลือดนี้เองเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนเป็นเลือดออกของมาลาเรีย และยังอาจทำให้เส้นเลือดอุดตันได้ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมาลาเรียขึ้นสมอง (cerebral malaria)
แม้ว่าโปรตีนยึดเกาะนี้ (PfEMP1 ย่อมาจาก Plasmodium falciparum erythrocyte membrane protein 1) จะถูกนำไปแทรกไว้ที่ผิวเม็ดเลือดแดงก็ตาม โปรตีนนี้ไม่สามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานได้ดีนัก เนื่องจากโปรตีนนี้มีความหลากหลายมาก ลักษณะนี้อาจเปรียบเทียบกับคนร้ายปลอมตัวที่เมื่อถูกจับได้ครั้งหนึ่งก็เปลี่ยนหน้ากากครั้งหนึ่ง จึงทำให้ไม่ถูกตรวจจับได้โดยง่าย
เมอโรซอยต์บางตัวจะกลายเป็นเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้และเพศเมีย (gametocyte) หากยุงมากัดคนที่ติดเชื้อและดูดเอาเลือดที่มีเม็ดเลือดที่ติดเชื้อมาลาเรียในระยะ gametocyte นี้ไป เซลล์เพศผู้และเพศเมียจะผสมพันธุ์กันในทางเดินอาหารของยุง (เนื่องจากการที่มีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศในยุงนี้เอง จึงทำให้ถือว่ายุงเป็น definitive host ของเชื้อมาลาเรีย) เมื่อผสมพันธุ์กันแล้วจะทำให้ได้สปอโรซอยต์ใหม่เดินทางไปอยู่ในต่อมน้ำลายของยุง และเมื่อยุงไปกัดคนอื่นต่อไป ก็จะนำเชื้อมาลาเรียระยะสปอโรซอยต์ไปติดคนใหม่
อาการ
หลังจากได้รับเชื้อมาลาเรียประมาณ 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะมีอาการนำคล้ายกับเป็นไข้หวัด คือ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหารได้ ลักษณะเฉพาะของโรคที่เรียกว่า ไข้จับสั่น คือ มีอาการหนาวสั่น ไข้สูง และตามด้วยเหงื่อออก
อาการไข้ซึ่งเป็นอาการที่เด่นชัดของมาลาเรีย ประกอบด้วย 3 ระยะคือ
1. ระยะสั่น ผู้ป่วยจะมีอาการหนาวสั่น ปากและตัวสั่น ซีด ผิวหนังแห้งหยาบ อาจจะเกิดขึ้นนานประมาณ 15 – 60 นาที ระยะนี้ตรงกับการแตกของเม็ดเลือดแดง
2. ระยะร้อน ผู้ป่วยจะมีไข้สูง อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย หน้าแดง ระยะนี้ใช้เวลา 2 – 6 ชั่วโมง
3. ระยะเหงื่อออก ผู้ป่วยจะมีเหงื่อออกจนชุ่มที่นอน หลังจากระยะเหงื่อออก จะมีอาการอ่อนเพลีย ไข้ลด
การรักษา
มาลาเรียเป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้ ถ้าได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง รวดเร็ว และได้รับการรักษาด้วยยาที่มีประสิทธิภาพ ตรงตามชนิดของเชื้อที่เป็นสาเหตุ ยารักษามาลาเรียชนิดแรกทำจากเปลือกของต้นซิงโคนา และเรียกชื่อว่า ควินิน ตัวยายับยั้งการแบ่งตัวของปรสิต ส่วนยาแผนปัจจุบันที่ใช้รักษาที่มีใช้อยู่มีดังนี้คือ
1. Chloroquine
2. Mefloquine
3. Doxycycline
4. Proguanil
ประเทศแซมเบียใช้ยารักษามาลาเรียที่ทำจากสมุนไพรชื่ออาร์ทีมิเซีย ยาอาร์ทีมิซินินมีประสิทธิภาพเทียบเท่าควินิน แต่มีผลข้างเคียงน้อยกว่า[8]
การป้องกัน
เมื่อจะต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีแหล่งระบาดของมาลาเรีย ควรป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด ดังนี้
1. สวมเสื้อผ้าปกปิดร่างกายให้มิดชิด ควรใช้เสื้อผ้าสีอ่อนๆ
2. ทายากันยุง
3. นอนในมุ้ง (ถ้าใช้มุ้งชุบน้ำยา จะเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกัน)
4. ถ้านอนในห้องที่มีมุ้งลวด ควรพ่นยากันยุงก่อน
ที่มา
http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น