ยินดีต้อนรับทุกคน

โรคริดสีดวงตา (trachoma)


โรคริดสีดวงตา (trachoma) เป็นโรคตาอักเสบเรื้อรังที่พบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย ส่วนใหญ่พบมากในเด็กวัยก่อนเรียนที่ชอบเล่นสกปรกทั้งวัน คำว่าริดสีดวงตา โดยทั่วไปหมายถึง อาการเคืองตา คันตาเรื้อรัง ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการแพ้ หรือจากการติดเชื้อก็ได้ ทั้งสองโรคมีสาเหตุอาการ ภาวะแทรกซ้อนและการรักษาต่างกัน

โรคริดสีดวงตามักจะเกิดในภูมิภาคที่มีอากาศร้อน และเป็นสาเหตุสำคัญของการทำให้ตาบอดสำหรับคนที่อยู่ในภูมิภาคดังกล่าว ได้แก่ แถบตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ อินเดีย เอเชียใต้ และประเทศจีน ส่วนในประเทศไทยพบมากทางภาคอีสาน ในที่ๆ แห้งแล้ง กันดารมีฝุ่นมาก และมีแมลงหวี่ แมลงวันชุกชุม โรคนี้ในบ้านเราถือเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้คนตาบอด




สารบัญ
1 สาเหตุของโรค
2 อาการ
3 การวินิจฉัยโรค
4 แนวทางการรักษา


สาเหตุของโรค
โรคริดสีดวงตา เกิดจากการติดเชื้อคลามีเดีย ทราโคมาติส (chlamydia trachomatis) ซึ่งเป็นจุลชีพที่อยู่ก้ำกึ่งระหว่างไวรัสกับแบคทีเรีย ติดต่อโดยการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง ทำให้เชื้อจากคนที่เป็นโรคแพร่ไปเข้าตาของอีกคนหนึ่ง เชื้อโรคแพร่ไปยังผู้อื่นได้ โดยผ่านทางผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เครื่องใช้ต่างๆ ที่ใช้ร่วมกัน หรือบางครั้งเกิดจากแมลงหวี่แมลงวันที่มาตอมตานำเชื้อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง การติดต่อมักจะต้องอยู่ใกล้ชิดกันนานๆ จึงมักพบเป็นพร้อมกันหลายคนในครอบครัวเดียวกัน


เชื้อนี้จะเข้าไปทำให้เกิดการอักเสบที่เยื่อบุตาขาวและกระจกตา (ตาดำ) ระยะฟักตัว 5-12 วัน คนเป็นแหล่งเก็บเชื้อ ในผู้ใหญ่ที่เป็นเยื่อบุตาอักเสบ มักติดต่อกันโดยว่ายน้ำในสระร่วมกับผู้ติดเชื้อ การใช้ผ้าเช็ดหน้าร่วมกันหรือการสัมผัสโดยตรงด้วยมือ


เชื้อคลามัยเดียมีคุณสมบัติคล้ายกับเชื้อริกเกตเซีย โดยเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องเจริญเติบโตภายในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตอื่น เนื่องจากไม่สามารถสังเคราะห์สาร ATP ขึ้นเองได้ ต้องใช้จากเซลล์ที่อาศัยอยู่ เชื้อคลามัยเดียต่างจากริกเกตเซียในเรื่องของการสืบพันธุ์โดยที่มีวงจรชีวิตเฉพาะ ระยะที่อยู่นอกเซลล์จะมีรูปร่างคล้ายสปอร์ขนาดเล็ก เมื่อเข้าสู่เซลล์ที่เหมาะสมจากการถูกจับกิน จึงเปลี่ยนรูปร่างมีขนาดใหญ่ และเป็นระยะแบ่งตัว เชื้อคลามัยเดียมี 2 เชื้อสาย C. psittaci ทำให้เกิดไข้นกแก้ว (psittacosis) และ C. trachomatis ทำให้เกิดโรคริดสีดวงตา (trachoma) โรคท่อปัสสาวะอักเสบชนิดที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อหนองใน และกามโรคชนิด LGV


โรคริดสีดวงตาเกิดจากเชื้อคลามัยเดียชนิด serovars A, B, Ba และ C ซึ่งแตกต่างกันที่การเปลี่ยนแปลงของโปรตีนบริเวณผิวนอก พบว่าสายพันธุ์ที่ก่อโรคเกิดการกลายพันธุ์ ทำให้หยุดยั้งการทำงานของยีนที่ควบคุมการสร้างเอ็นซัยม์ tryptophan synthase




อาการ
อาการของโรคริดสีดวงตา แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่

ระยะเริ่มแรก ผู้ป่วยจะมีอาการเคืองตา คันตา น้ำตาไหล ตาแดงเล็กน้อย อาจมีขี้ตา มักเป็นที่ตาทั้งสองข้าง อาการจะคล้ายกับเยื่อบุตาอักเสบจากเชื้ออื่นๆ จนบางครั้งแยกกันไม่ออก ระยะนี้ถึงแม้ไม่ได้รักษาบางคนจะหายเองได้ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าพบว่ามีอาการเรื้อรังนาน 1-2 เดือน และอยู่ในท้องถิ่นที่มีโรคนี้ชุกชุม หรือมีคนในบ้านเป็นโรคนี้อยู่ก่อน ก็อาจให้การรักษาแบบโรคริดสีดวงตาไปเลย ถึงแม้ไม่ได้รักษาในระยะนี้บางคนอาจหายได้เองแต่บางคนอาจเข้าสู่ระยะที่ 2
ระยะที่สอง เป็นริดสีดวงแน่นอนแล้ว การอักเสบจะลดน้อยลง ผู้ป่วยจะมีอาการต่างๆ ลดลงกว่าระยะแรก ผู้ป่วยจะรู้สึกอาการอักเสบลดน้อยลง แต่ถ้าพลิกเปลือกตาดู จะพบเยื่อบุตาหนาขึ้น และเห็นเป็นตุ่มเล็กๆ ออกสีเหลืองๆ ที่ด้านในของผนังตาบน นอกจากนี้จะพบว่ามีแผ่นเยื่อบางๆ ออกสีเทาๆ ที่ส่วนบนสุดของตาดำ มีเส้นเลือดฝอยวิ่งเข้าไปในตาดำ แผ่นเยื่อสีเทาซึ่งมีเส้นเลือดฝอยอยู่ด้วยนี้เรียกว่า "แพนนัส"(pannus) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ แตกต่างจากโรคเยื่อบุตาขาวอักเสบจากการแพ้ ซึ่งอาจมีตุ่มเล็กๆ ที่เยื่อบุเปลือกตา แต่จะไม่มีแพนนัสที่ตาดำ ระยะที่สองนี้อาจเป็นอยู่นานเป็นเดือนๆ หรือปีๆ
ต่อมาจะเข้าสู่ระยะเริ่มแผลเป็น ผู้ป่วยจะมีอาการเคืองตาเล็กน้อยจนเกือบไม่มีอาการเลย ตุ่มเล็กๆ ที่เยื่อบุเปลือกตาบนจะค่อยๆ ยุบหายไป แต่จะมีพังผืดแทนที่กลายเป็นแผลเป็น ส่วนแพนนัสที่ตาดำยังคงปรากฏให้เห็น แผลเป็นเกิดจากเซลล์เยื่อบุผิวเหี่ยวย่น เซลล์สร้างเมือกตายไปเป็นจำนวนมาก และถูกแทนที่โดยสารคอลลาเจนชนิด type IV และ type V collagen ระยะแผลเป็นนี้อาจกินเวลาเป็นปีๆ เช่นกัน การใช้ยารักษาในระยะนี้ไม่ค่อยได้ผล
ระยะของการหาย ระยะนี้โรคจะหายไปเอง แม้ไม่ได้รับการรักษา แต่จะมีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นคือ แผลเป็นที่เปลือกตา ทำให้ขนตาเกเข้าไปตำถูกตาดำ เกิดเป็นแผล ทำให้สายตามืดมัว และแผลเป็นอาจอุดกั้นท่อน้ำตา ทำให้น้ำตาไหลตลอดเวลาหรืออาจทำให้ต่อมน้ำตาไม่ทำงาน ทำให้ตาแห้ง หรือบางรายถ้ามีเชื้อแบคทีเรีย ซ้ำเติมทำให้ตาดำเป็นแผลมากขึ้น จนในที่สุดทำให้ตาบอดได้
อย่างไรก็ตาม โรคนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นรุนแรงทุกคน บางคนเป็นแล้ว อาจหายได้เองในระยะแรกๆ ส่วนคนที่มีภาวะแทรกซ้อน มักจะมีการติดเชื้ออักเสบบ่อยๆ ประกอบกับมีปัจจัยเสริมอื่นๆ เช่น การติดเชื้อ แบคทีเรียซ้ำเติม ขาดอาหาร ขาดวิตามิน เป็นต้น




การวินิจฉัยโรค
สามารถวินิจฉัยโรคได้จากประวัติอาการ และลักษณะทางคลินิก โรคนี้ควรแยกออกจากโรคเยื่อบุตาขาวอักเสบชนิดอื่นๆ ควรสงสัยเป็นริดสีดวงตา เมื่อมีการอักเสบเรื้อรังเป็นเดือนๆ และอยู่ในท้องถิ่นที่มีโรคนี้ชุกชุม




แนวทางการรักษา
พิจารณาใช้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน เช่น เตตราไซคลีน หรืออีริโทรไมซิน และใช้ยาปฏิชีวนะชนิดป้ายตาเตตราไซคลีน วันละ 4 ครั้งติดต่อกันทุกวันไปจนครบ 6 สัปดาห์ ยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ๆ เช่น อะซิโทรมัยซิน ใช้ได้ผลดีมาก
ควรไปพบจักษุแพทย์ตั้งแต่มีอาการเริ่มแรก การรักษาจึงจะได้ผลไม่ลุกลาม การรักษาริดสีดวงตา ตั้งแต่ในระยะที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็นระยะที่มีการติดเชื้อรุนแรง การใช้ยาปฏิชีวนะจะสามารถทำลายเชื้อ และป้องกันมิให้เกิดภาวะแทรกซ้อน แต่ในระยะที่ 3 และ 4 เป็นระยะที่การติดเชื้อเบาบางลงแล้ว และเปลือกตาเริ่มเป็นแผลเป็น การใช้ยาปฏิชีวนะในระยะนี้ จึงไม่ค่อยได้ประโยชน์ คือไม่สามารถลดหรือป้องกันภาวะแทรกซ้อนได้
อาการขนตาเก นอกจากมีสาเหตุจากริดสีดวงตาแล้ว ยังอาจพบในคนสูงอายุ เนื่องจากหนังตาล่างหย่อนยาน ทำให้กล้ามเนื้อมีการหดตัวมากกว่าปกติ ดึงเอาขอบตาม้วนเข้าใน เรียกว่า อาการเปลือกตาหันเข้าใน (Entropion) ทำให้มีขนตาทิ่มตำถูกตาขาวและตาดำ มีอาการเคืองตา น้ำตาไหล เยื่อบุตาอักเสบ ถ้าปล่อยไว้ อาจทำให้มีแผลที่กระจาตาดำ สายตามืดมัวหรือตาบอดได้ สำหรับการรักษา ถ้ามีขนตาเกเพียงไม่กี่เส้น ก็อาจใช้วิธีถอนขนตา แต่ถ้ามีหลายเส้น แนะนำให้ไปผ่าตัดที่โรงพยาบาล อาจต้องผ่าตัดแก้ไขเปลือกตาที่เป็นแผลเป็น ในรายที่เป็นแผลเป็นที่กระจกตา อาจต้องผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา
หากมีผู้ป่วยหลายคนในบ้าน ต้องรักษาพร้อมกันจึงจะได้ผล
สามารถป้องกันได้ โดยไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยหรือใช้ของร่วมกับผู้ป่วย หมั่นล้างมือล้างหน้าให้สะอาดอยู่เสมอ จัดสิ่งแวดล้อมให้สะอาด กำจัดขยะมูลฝอยในบริเวณบ้านด้วยวิธีเผา หรือฝังเพื่อป้องกันมิให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงและเชื้อโรค และไม่ปล่อยให้เด็กเล่นฝุ่นละอองหรือให้แมลงหวี่แมลงวันตอมตา
องค์การอนามัยโลกกำลังดำเนินโครงการกำจัดโรคริดสีดวงตา เรียกว่า Global Alliance for the Elimination of Trachoma by the year 2020 (GET 2020) เน้นหลักสำคัญ 4 ประการ คือ การผ่าตัด การใช้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม การล้างหน้าให้สะอาด และการดูแลจัดการสภาพแวดล้อม


ที่มา
http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%94%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%95%E0%B8%B2

1 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

แนะนำทางเลือกใหม่
สมุนไพรพลูคาวสกัดสด 100% จากพืชพลูคาว
ทำลายยับยั้งเชื้อ (Hiv เอดส์) หูดหงอนไก่ สเก็ดเงิน ริดสีดวง มะเร็ง เบาหวาน ไต ไทรอย ไวรัสตับอักเสบบี อัมพฤกษ์ อัมพาต หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ภูมิแพ้ ตกขาว

คนที่ใช้แล้วต้องบอกต่อทานแล้วอาการดีขึ้นจริง สำหรับท่านใดสนใจหรือต้องการสอบถาม
สอบถามเพิ่มเติมที่ tel. 0959279523 ID line. Aofaudio0502

แสดงความคิดเห็น

คลิปข่าวดัง

ภาพจากข่าวดัง

เรื่องน่ารู้ สาระน่ารู้

CLIP VIDEO คลิปวีดีโอ สารคดี สาระน่ารู้

คลิป วิธีการทำอาหารต่างๆ

คลิปสารคดี-ไขปริศนาโลกปรากฏการณ์

ภาพวาดสาวสวยน่ารัก GIRL DRAWING WALLPAPER

ภาพสาวเกาหลี Korea Girl

ภาพสาวฝรั่ง GIRL WESTERN