ยินดีต้อนรับทุกคน

พลาสติกอิเล็กทรอนิกส์ PLASTIC ELECTRONIC


วัสดุ มีความสําคัญกับอารยะธรรมของมนุษย์มาก ถึงขนาดที่ว่าเราแบ่งยุคของอารยะธรรมตามความรู้ความสามารถทางวัสดุที่นํามาทําเครื่องใช้ไม้สอย เช่น ยุคหิน กับ ยุคโลหะ ซึ่งในยุคโลหะก็ถูกแบ่งย่อยออกเป็น ยุคทองแดง ยุคสําริด และยุคเหล็ก สําหรับระยะเวลาในช่วงปัจจุบันนั้น อาจกล่าวได้ว่า เรากําลังใช้ชีวิตอยู่ในยุคพลาสติกก็ได้ เพราะเครื่องใช้ต่างๆ ผลิตมาจากพลาสติกเป็นจำนวนมาก








ยุคพลาสติก
อย่างไรก็ตามแม้ว่าอารยธรรมของมนุษย์จะคลุกคลีและใช้เวลาอยู่กับยุคพลาสติกมาเกือบ ๑๕๐ ปีแล้ว นับตั้งแต่อเล็กซานเดอร์ ปาร์ค (Alexander Parkes) ได้นําเอาพลาสติกที่มีชื่อเรียกว่า Parkesine ออกสาธิตในงานแสดงสินค้านานาชาติที่กรุงลอนดอนเมื่อปี พ.ศ. 2405 พลาสติกที่ได้คิดค้นและพัฒนาขึ้นในกาลต่อมาตราบจนกระทั่งปัจจุบันจะมีคุณสมบัติหลักๆ อันได้แก่ ความสามารถในการขึ้นรูปได้ ความยืดหยุ่น ความเป็นฉนวนไฟฟ้าที่ดี ซึ่งทําให้การใช้งานพลาสติกเหล่านั้น ยังคงวนเวียนอยู่กับสมบัติเชิงกลของมัน คือ การใช้เป็นภาชนะ ตัวถัง หีบห่อ และการนำมาทำเป็นโครงสร้างต่างๆ

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงสำคัญในการใช้งานพลาสติกในลักษณะอื่นที่ต่างออกไปเริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 เมื่อศาสตราจารย์ อลัน เจ ฮีเกอร์ (Alan J. Heeger) ศาสตราจารย์ อลัน จี แมคไดอาร์มิด (Alan G. MacDiarmid) และ ศาสตราจารย์ ฮิเดกิ ชิรากาวา (Hideki Shirakawa) ได้ร่วมกันค้นพบพลาสติกชนิดใหม่ซี่งมีความมันวาวเฉกเช่นโลหะ และสามารถนําไฟฟ้าได้ดี (ผศ. ดร. ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ 2550:2-3) การค้นพบพลาสติกนําไฟฟ้าของนักวิทยาศาสตร์ทั้งสามท่านนั้น จะนําพาอุตสาหกรรมกึ่งตัวนําของโลกไปสู่ยุคอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายจะมีมิติเปลี่ยนไป เช่น ในอนาคตอันใกล้จะมีจอภาพโทรทัศน์ที่แบนบางเหมือนกระดาษ คําว่า "หลอดไฟ" จะเป็นสิ่งล้าสมัยและถูกแทนที่ด้วย "แผ่นไฟ" แผงเซลล์สุริยะที่สามารถกางออกและพับได้เหมือนเต็นท์ เสื้อผ้าที่มีวงจรอิเล็กทรอนิกส์ฝังอยู่ในเส้นใยผ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ย่อยสลายได้ในธรรมชาติ ไปจนถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีระบบติดตามตั้งแต่โรงงานผลิตสู่ห้างสรรพสินค้า ไปจนกระทั่งถูกทิ้งในถังขยะ การค้นพบครั้งสําคัญที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญนี้ ทําให้นักวิทยาศาสตร์ทั้งสามท่านได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีในปี พ.ศ. 2543

พลาสติกอิเล็กทรอนิกส์
พลาสติกอิเล็กทรอนิกส์ หมายถึง การประยุกต์ใช้พลาสติกนำไฟฟ้าหรือโมเลกุลอินทรีย์เพื่อสร้างวงจรหรือเป็นฐานรองสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อันมีผลทำให้เกิดกระบวนการใหม่ในการประกอบอุปกรณ์ รวมไปถึงคุณสมบัติใหม่ ซึ่งทำให้เกิดการประยุกต์ใช้งานได้เพิ่มเติมหรือใหม่ไปจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน (http://lanta.giti.nectec.or.th/drupal/?q=node/506)

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ได้เกิดการตื่นตัวอย่างมากในอุตสาหกรรมวัสดุกึ่งตัวนําเพื่อที่จะแสวงหาทางเลือกอื่นในการพัฒนาสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ใช้วัสดุซิลิกอน ซึ่งทําให้วัสดุอินทรีย์ที่มีสมบัติทางไฟฟ้าอย่างพลาสติกนําไฟฟ้ากลายมาเป็นทางเลือกใหม่ โดยมีสัญญาณบ่งชี้ว่า พลาสติกอิเล็กทรอนิกส์กําลังจะพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมใหม่ (Emerging Industry) เพราะเพียงแค่ปี พ.ศ. 2549 ปีเดียวเท่านั้น ได้มีการจัดงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกอิเล็กทรอนิกส์มากกว่าเดือนละครั้ง และจากที่บริษัทวิจัยตลาดที่ชื่อว่า IDTechEx ได้ประมาณการว่ามูลค่าโดยรวมของตลาดพลาสติกอิเล็กทรอนิกส์จะเพิ่มจาก 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2549 เป็น 13,000 ล้านเหรียญในปี พ.ศ. 2555 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าอย่างก้าวกระโดด ทั้งนี้อุตสาหกรรมพลาสติกอิเล็กทรอนิกส์ไม่เพียงเป็นทางเลือกใหม่ในการใช้อินทรีย์วัตถุแทนการใช้ซิลิกอนแบบเดิมเท่านั้น แต่ยังช่วยเสริมอุตสาหกรรมทั้งที่มีอยู่แล้วและที่เกิดใหม่ อย่างเช่น RFID หรือ จอภาพ ให้สามารถผลิตได้ในราคาประหยัดอีกด้วย (http://nanotech.sc.mahidol.ac.th/plastronics/PlasticElectronics_Web.pdf)

อุตสาหกรรมพลาสติกของไทย
อุตสาหกรรมเม็ดพลาสติกในประเทศไทยเริ่มจากการเป็นผู้นำเข้าเม็ดพลาสติกเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก ต่อมาเมื่อความต้องการบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้นและขยายตัวตามการพัฒนาเศรษฐกิจทำให้ต้องนำเข้าในปริมาณเพิ่มขึ้นในระดับที่มากพอที่จะสร้างโรงงานผลิตขึ้นภายในประเทศ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต่างๆ เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำของอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติกโดยเป็นการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า

ในปี พ.ศ. 2513 มีการค้นพบก๊าซธรรมชาติกอปรกับรัฐบาลเล็งเห็นโอกาสที่จะให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขึ้นในประเทศเพื่อรองรับการขยายตัวทางด้านอุตสาหกรรม จึงมีนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในประเทศขึ้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 เริ่มมีโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชนิดโพลีไวนิลคลอไรด์ (พีวีซี) เป็นแห่งแรก คือ บริษัทไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด ด้วยกำลังการผลิต 140,000 ตันต่อปี

ปัจจุบันอุตสาหกรรมพลาสติกของประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมที่ครบวงจร กล่าวคือมีอุตสาหกรรมสนับสนุนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ส่งผลให้เป็นอุตสาหกรรมเชื่อมโยงที่มีความเข้มแข็ง ดังจะเห็นได้จาก ประเทศไทยมีการผลิตเม็ดพลาสติกหลายชนิดที่สามารถใช้เป็นวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกได้ ด้วยเหตุผลนี้เองทำให้อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกเกิดอัตราการขยายตัวขึ้นตามลำดับ ซึ่งรวมถึงการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น นอกจากอุตสาหกรรมพลาสติกของประเทศไทยจะสามารถผลิตภัณฑ์พลาสติกที่สนองต่อความต้องการด้วยการผลิตสินค้าหลากหลายประเภทด้วยกรรมวิธีการผลิตที่ต่างกันออกไปแล้ว ไทยยังเป็นประเทศผู้นำของเอเชียและตลาดโลกด้วย

ศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกอิเล็กทรอนิกส์
จากความพร้อมของประเทศไทยดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีขีดความสามารถที่จะเข้าร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์และกำหนดแนวทางในการชิงตลาดอุตสาหกรรมพลาสติกอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยไม่ยากนัก หากมีการส่งเสริมจากภาครัฐและมีความร่วมมือกันของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลาสติกอย่างเต็มที่ เนื่องจากเทคโนโลยีพลาสติกอิเล็กทรอนิกส์เพิ่งเริ่มพัฒนามาเป็นระยะเวลาอันสั้น นักวิชาการของไทยในขณะนี้ก็มีอู่เป็นจำนวนเพียงพอ ประกอบกับอุปกรณ์ที่ใช้ในการวิจัยก็มีราคาไม่แพงมาก และที่สำคัญที่สุดก็คือการที่ไทยมีอุตสาหกรรมพลาสติกที่ได้มีการพัฒนาต่อเนื่องกันมาหลายทศวรรษรองรับอย่างเข้มแข็ง ทั้งนี้นานาประเทศต่างก็ให้ความสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกอิเล็กทรอนิกส์เป็นอย่างสูง เช่น สหภาพยุโรปกำหนดเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักใน Framework Program 7 ในขณะที่ไต้หวันนั้นให้ความสำคัญกับอิเล็กทรอนิกส์สิ่งทอ (Electronics Textile) เป็นลำดับแรก (http://thailabor.com/jobs_thailand/index.php?article=1831&type=print-article)

ประเทศไทยเคยพลาดโอกาสที่จะพัฒนาเทคโนยีและอุตสาหกรรมเกี่ยวกับวงจรรวมมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อประมาณ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากการขาดความใส่ใจและไม่เห็นคุณค่าของอุตสาหกรรมวงจรรวม ซึ่งก่อให้เกิดรายได้มหาศาลแก่ประเทศที่มีเทคโนโลยีดังกล่าว ทำให้ไต้หวันสามารถยึดตลาดวงจรรวมได้อย่างมั่นคงและนำรายได้มหาศาลเข้าสู่ประเทศในขณะนี้ ทั้งที่เมื่อ 5 ทศวรรษที่ผ่านมานี้ ไต้หวันเป็นประเทศที่ทั้งยากจนและโดดเดี่ยว รายได้เฉลี่ยของประชาชนต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยของชาวเมกซิโกอย่างมากมาย โดยในปี พ.ศ. 2519 ชาวเมกซิโกมีรายได้เฉลี่ย 1.47 ดอลล่าร์/วัน ส่วนชาวไต้หวันมีรายได้เฉลี่ย .40 ดอลล่าร์/วัน แต่ในปี พ.ศ. 2542 ชาวเมกซิโกมีรายได้เฉลี่ย 2.12 ดอลล่าร์/วัน ในขณะที่ชาวไต้หวันมีรายได้เฉลี่ยถึงวันละ 5.62 ดอลล่าร์ (Juan Enriquez. 2001:27) ดังนั้น ในอุตสาหกรรมพลาสติกอิเล็กทรอนิกส์ ไทยจะต้องเริ่มต้นกำหนดยุทศาสตร์และแนวทางการดำเนินงานเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และการสร้างอุตสาหกรรมต่อเนื่องให้มั่นคง อันจะนำไปสู่การได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดอุตสาหกรรมประเภทนี้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%87%E0%B8%81%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B9%8C

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คลิปข่าวดัง

ภาพจากข่าวดัง

เรื่องน่ารู้ สาระน่ารู้

CLIP VIDEO คลิปวีดีโอ สารคดี สาระน่ารู้

คลิป วิธีการทำอาหารต่างๆ

คลิปสารคดี-ไขปริศนาโลกปรากฏการณ์

ภาพวาดสาวสวยน่ารัก GIRL DRAWING WALLPAPER

ภาพสาวเกาหลี Korea Girl

ภาพสาวฝรั่ง GIRL WESTERN