ยินดีต้อนรับทุกคน

พันธุ์ไม้ในในป่าชายเลน

สังคมพืชในป่าชายเลนมีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างไปจากสังคมพืชในป่าบกอื่นๆ อันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมเป็นตัวการจำกัดที่สำคัญซึ่งทำให้พืชที่มีการปรับตัวมาโดยเฉพาะเท่านั้นที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ พืชพวกนี้จำเป็นต้องมีการปรับตัวทั้งทางด้านสรีระและโครงสร้าง โดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่ในสภาพที่เป็นดินเลนลึกและจมอยู่ในน้ำเค็มที่ท่วมถึงเป็นประจำ พืชพวกนี้มีรากค้ำจุนจำนวนมากแตกออกบริเวณโคนต้น ทำหน้าที่พยุงลำต้นและยังทำหน้าที่หายใจด้วย


เนื่องจากใต้ผิวดินลงไปมีออกซิเจนน้อยมาก เห็นได้ชัดในพวก โกงกาง ลักษณะรากที่ทำหน้าที่หายใจอาจมีความแตกต่างกันออกไป เช่น แทงขึ้นจากรากใต้ดินเป็นแท่งตรงซึ่งเห็นบริเวณรอบๆโคนต้น พบใน แสม ลำพูและลำแพน แทงขึ้นมาบนพื้นดินเป็นรูปหักงอคล้ายเข่า เช่น ถั่วขาว พังกาหัวสุม ฝาด และ โปรงหรือมีลักษณะเป็นสันแบนบริเวณโคนต้นและทอดยาวคดเคี้ยวออกไปซึ่งเรียกว่า พูพอน (buttress) ซึ่งพบใน ตะบูน และ โปรง พันธุ์ไม้ดังกล่าวพวกนี้มักมีผลที่ออกตั้งแต่อยู่บนต้นแม่ (vivipary) มีลักษณะแหลมยาวคล้ายฝัก เมื่อหล่นจากต้นแม่สามารถปักลงในดินเลนและพร้อมที่จะเติบโตได้อย่างรวดเร็ว


ลักษณะที่ปรับตัวเพื่อเจริญอยู่ได้ในน้ำเค็ม มีลักษณะคล้ายพืชทะเลทราย เนื่องจากไม่สามารถดูดน้ำนั้นไปใช้ได้สะดวกอย่างน้ำจืดจึงต้องเก็บกักน้ำที่ดูดขึ้นไปได้ไว้ในลำต้นให้ได้มากที่สุด เห็นได้จากลักษณะของใบซึ่งมักมีคิวตินเคลือบหนา มีปากใบแบบจม และมักมีขนปกคลุมผิวใบทั้งนี้เพื่อป้องกันการระเหยของน้ำออกจากใบ บางชนิดมีการเก็บกักน้ำไว้ในเซลล์พิเศษของใบ ซึ่งทำให้ใบมีลักษณะอวบน้ำ นอกจากนี้เซลล์ของพืชในป่าชายเลนยังมีความเข้มข้นของเกลือแร่สูงกว่าเซลล์ปกติทั่วไป รวมทั้งมีต่อมขับน้ำเกลือทำหน้าที่ควบคุมความเข้มข้นของเกลือแร่ในเซลล์ใบให้อยู่ในระดับปกติอีกด้วย


สำหรับพันธุ์ไม้ที่พบโดยทั่วไปที่เห็นได้เด่นชัดเป็นพวกไม้ยืนต้น นอกนั้นจะมีพวกไม้พุ่ม อิพีไฟต์และไม้เลื้อย ส่วนที่พบในน้ำคือสาหร่าย และแพลงค์ตอนพืชต่างๆ
พืชยืนต้นที่พบเป็นชนิดเด่นในป่าชายเลน ได้แก่

โกงกางใบเล็ก (Rhizophora apiculata)


พันธุ์ไม้สำคัญที่พบมากในป่าชายเลนลักษณะคล้ายคลึงกับโกงกางใบใหญ่ แต่ใบมีขนาดเล็กกว่า ตรงโคนต้นแตก รากค้ำจุนมาก ฝักมีขนาดเล็กยาวประมาณ 30 เซนติเมตร เมื่อร่วงหล่นลงสู่พื้นจะปักดินและงอกขึ้นมาเป็นต้น โกงกางทั้งสองชนิดมักขึ้นอยู่ริมชายฝั่งของเขตแนวป่าด้านนอก

โกงกางใบใหญ่ (Rhizophora mucronata)


พันธุ์ไม้ที่มีลักษณะต้นตั้งตรง และแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มบริเวณเรือนยอด รากค้ำจุนแตกออกตรงโคนต้น ใบขนาดใหญ่เป็นมัน ผลสีน้ำตาล มีการงอกของเมล็ดตั้งแต่อยู่บนต้นยื่นลงมาเป็นท่อนยาวสีเขียว ขนาดยาวประมาณ 50 เซนติเมตร เมื่อร่วงหล่นลงสู่พื้นโคลน จะปักลงไปในดินและเจริญงอกขึ้นมาเป็นต้น

แสมขาว (Avicennia alba)


พันธุ์ไม้ป่าชายเลนที่พบมากอีกชนิดหนึ่ง ลักษณะต้นสูงใหญ่ ตรงโคนต้นมีราก
อากาศโผล่พ้นพื้นดันขึ้นมาเป็นเส้นขนาดยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ดอกมีขนาดเล็กสีเหลือง กลิ่นหอม ผลมีรูปร่างกลมรีคล้ายผลมะม่วงขนาดเล็ก เมื่อหล่นลงสู่พื้นจึงงอกขึ้นเป็นต้นใหม่หรือถูกพัดพาไปกับน้ำทะเล

ประสัก หรือพังกาหัวสุม (Bruguira gymnorrhiza)


พันธุ์ไม้ในป่าชายเลนที่ขึ้นแทรกอยู่ในเขตป่าโกงกาง ใบมีผิวเรียบมัน ดอกประสักมีกลีบเลี้ยงสีแดง ผลมีการงอกของเมล็ดตั้งแต่ยังอยู่บนต้น ลักษณะเป็นท่อนยาวประมาณ 12 เซนติเมตร เมื่อร่วงหล่นปักลงบนพื้นดินโคลนจะงอกรากและเจริญเป็นต้น

ลำพู (Sonneratia caseolaris)


พันธุ์ไม้ป่าชายเลนที่มักพบขึ้นปะปนกับแสมบริเวณปากแม่น้ำที่เป็นแหล่งน้ำกร่อยมีรากอากาศขนาดใหญ่ที่แทงขึ้นมาจากพื้นดินเห็นได้ชัดเจน บนต้นลำพูนี่เองที่หิ่งห้อยชอบอาศัยอยู่และส่งแสงกระพริบในเวลากลางคืน

จาก (Nypa frutican)


พืชจำพวกปาล์มที่พบขึ้นอยู่หนาแน่นบริเวณริมฝั่งคลองของป่าชายเลนหรือบริเวณน้ำกร่อยชาวประมงนิยมนำใบจากไปมุงหลังคาบ้าน ผลลักษณะเป็นทะลาย แทงขึ้นมาจากกอ

ตะบูน (Xylocarpus granatum)


พบขึ้นอยู่ทางเขตด้านใน ถัดจากโกงกางเข้าไปซึ่งเป็นเขตตะบูนและโปรง ลักษณะโคนต้นมีรากแผ่ออกเป็นพูพอนขนาดใหญ่ ผลมีขนาดและรูปร่างคล้ายมะตูม เมื่อผลแห้งจะแตกออกมีเมล็ดขนาดใหญ่อยู่ภายใน

โปรง (Ceriops tagal)


พันธุ์ไม้ชายเลน ขึ้นปะปนกับตะบูน ลำต้นตั้งตรงขนาดสูงประมาณ 5 เมตร เมื่อติดผลมีลักษณะคล้ายคลึงกับฝักโกงกางใบเล็ก ต้นโปรงจะขึ้นอยู่บนพื้นดินที่ค่อนข้างแข็งในเขตเดียวกับตะบูน

ตาตุ่ม (Excoecaria agallocha)


พันธุ์ไม้ป่าชายเลนที่มียางพิษสีขาวหากเข้าตาจะทำให้อักเสบ พบขึ้นปะปนอยู่กับต้นฝาด เราจะสังเกตต้นตาตุ่มได้ เมื่อใบแก่จะเปลี่ยนเป็นสีส้มแดงก่อนที่จะร่วงหล่น

ฝาดแดง (Lumnitzera littorea)


ไม้ป่าชายเลนขนาดต้นใหญ่ ลำต้นสีดำใบเล็ก อวบน้ำ ดอกออกเป็นช่อสีแดง ออกดอกชุกในช่วงฤดูฝน ซึ่งจะมีนกกินน้ำหวานหลายชนิด เช่น นกกระจิบ นกแว่นตาขาวและนกกินปลีที่อาศัยอยู่ตามป่าชายเลนชอบมาดูดน้ำหวานจากดอกฝาดสีแดงเหล่านี้

เสม็ด (Melaleuca leucadendron)


พืชยืนต้นที่ขึ้นอยู่ทางเขตด้านในสุดของป่าชายเลนเชื่อมต่อกับป่าบก ดอกเป็นช่อสีขาว ส่วนใหญ่ของพื้นที่ป่าเสม็ดจะมีน้ำท่วมถึงเฉพาะช่วงน้ำเกิดในฤดูหนาวเท่านั้น เปลือกของเสม็ดนำมาชุบน้ำมันยางใช้ทำขี้ไต้ สำหรับจุดไฟ ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวประมง




(ที่มา: สนิท อักษรแก้ว,2541)
http://www.kroobannok.com/2284

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คลิปข่าวดัง

ภาพจากข่าวดัง

เรื่องน่ารู้ สาระน่ารู้

CLIP VIDEO คลิปวีดีโอ สารคดี สาระน่ารู้

คลิป วิธีการทำอาหารต่างๆ

คลิปสารคดี-ไขปริศนาโลกปรากฏการณ์

ภาพวาดสาวสวยน่ารัก GIRL DRAWING WALLPAPER

ภาพสาวเกาหลี Korea Girl

ภาพสาวฝรั่ง GIRL WESTERN